Home กฎหมาย จป.หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างานตามกฎหมาย
จปหัวหน้างานคือใคร

จป.หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างานตามกฎหมาย

by Kim Nguyen
528 views

จป.หัวหน้างาน ตามกฎหมายใหม่ คือใคร หน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างานตามกฎหมาย

จป.หัวหน้างาน ปัจจุบันทุกสถานประกอบกิจการหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการบังคับของกฎหมายทั้งหมดนี้เพื่อให้หัวหน้างานคนดังกล่าวทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของลูกน้องและทีมงานของตนเอง นอกเหนือจากงานที่จะต้องทำเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายขององค์กร

สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องยอมรับเลยว่ามีความเสี่ยงในการทำงาน จนนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุของพนักงานนั่นหมายความว่าเราจะต้องเอาเลือดเนื้อความเสี่ยงของคนทำงานไปแลกกับผลผลิตของบริษัท ย่อมไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุไปแล้วบางครั้งอาจจะส่งผลรุนแรงถึงพิการ หรือเสียชีวิตได้

จป.หัวหน้างาน จึงเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับกระบวนการผลิต กับพื้นที่ และที่สำคัญเป็นคนสั่งงานลูกน้องหรือพนักงานโดยตรง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม จป.หัวหน้างาน จึงมีความสำคัญมาก

กฎหมายใหม่เกี่ยวกับ จป หัวหน้างานปัจจุบันคือ กฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อยกเลิก กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ซึ่งในกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ ได้พูดถึงการจัดให้มีบุคลากรเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ เอาไว้หลายตำแหน่ง

จป.หัวหน้างาน ตามกฎหมายใหม่ คือใคร

ในกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 ได้แบ่งประเภทของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานไว้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง
  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะ

ซึ่งในส่วนของ จป.หัวหน้างาน นั้นจัดอยู่ในเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยโดยตำแหน่ง นั่นเอง และกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้กำหนดไว้ในข้อ 7 นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวน 2 คนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้างจำนวน 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับหัวหน้างานทุกคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานของสถานประกอบกิจการ การที่ลูกจ้างระดับหัวหน้างานจะเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานได้นั้น ต้องมี

คุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  1. ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
  2. เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
  3. มีคุณสมบัติตามข้อ 15 ข้อ 18 หรือข้อ 21 แล้วแต่กรณี

แต่หากลูกจ้างระดับหัวหน้างานไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดข้างต้น ก็ให้นายจ้างส่งลูกจ้างนั้นเข้าอบรม และเมื่อ อบรม จป.หัวหน้างาน แล้วต้องแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ภายใน 120 วัน นับจากวันที่นายจ้างแต่งตั้งให้เป็นลูกจ้างระดับหัวหน้างาน 

จป-หัวหน้างานมีหน้าที่อะไร

จป.หัวหน้างาน มีหน้าที่อะไร

ซึ่งเมื่อมีการแต่งตั้งและแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว จากหัวหน้างานก็จะเป็นจป.หัวหน้างาน ซึ่งมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. กำกับดูแลลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
  2. วิเคราะห์งานในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อค้นหาความเสี่ยงหรืออันตรายเบื้องต้น จากการทำงานโดยอาจร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพ
  3. จัดทำคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพ เพื่อเสนอคณะกรรมการความปลอดภัยหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณีและทบทวนคู่มือดังกล่าวตามที่นายจ้างกำหนด โดยนายจ้างต้องกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยทุก 6 เดือน
  4. สอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
  5. ตรวจสอบสภาพการทำงานของเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน
  6. กำกับดูแลการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ
  7. รายงานการประสบอันตราย การเจ็บป่วยหรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจาก การทำงานของลูกจ้างต่อนายจ้างและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพ สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีหน่วยงานความปลอดภัยให้แจ้งต่อหน่วยงานความปลอดภัยทันทีที่เกิดเหตุ
  8. ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วยหรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพและรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายจ้าง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
  9. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน
  10. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมอบหมาย

บทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างาน

จป.หัวหน้างาน มีส่วนร่วมอย่างไรกับสถานประกอบการเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

จป.หัวหน้างาน นอกจากมีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังมีหน้าที่นอกเหนือจากรายละเอียดข้างต้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  • กำหนดขั้นตอนการทำงานให้กับทีมงาน
  • วิเคราะห์ความเสี่ยงอันตรายต่างๆ ในพื้นที่ของตนเองและป้องกันไม่ให้พื้นที่ที่รับผิดชอบเกิดความเสี่ยง
  • สื่อสารข้อมูลต่างๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์ให้กับพนักงานในทีมได้ทราบเพื่อระมัดระวัง
  • คอยสอบถามและสนับสนุนทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์การทำงาน หรือ PPE รวมไปถึงคอยช่วยให้คำแนะนำต่างๆ เป็นต้น

สรุป

บทบาทหน้าที่ของ จป.หัวหน้างาน ถือว่ามีความสำคัญมากต่อการทำงาน เนื่องจากว่าเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับพนักงานมากที่สุด รู้ เห็น สิ่งที่อยู่หน้างาน มากกว่า จป.ระดับอื่น  จึงถือว่าเป็นบุคคลที่ขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยที่สำคัญขององค์กร ทางองค์กรเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะมาทำงานในตำแหน่ง จป.หัวหน้างานให้มีความสามารถเพียงพอในการทำงานในตำแหน่งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเรียนรู้บทบาทหน้าที่ จป.หัวหน้างาน ที่ควรมีตามกฎหมายจากหลักสูตร จป.หัวหน้างาน เนื้อหาตามกฎหมายใหม่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

logo

เกี่ยวกับเรา

เว็บบล็อกข่าวด้านความปลอดภัยในการทำงาน มีเนื้อหาน่าสนใจ ที่คุณสามารถอ่านได้ในทุกวัน 

Copyright @2023 – All Right Reserved. Designed and Developed by wpcustomerhelp